เรื่องของภาษี บางครั้งก็ทำให้หลายๆคน เครียดได้เหมือนกัน ยิ่งเมื่อผู้เสียภาษีต้องถูกกรมสรรพากรประเมินภาษีเพิ่ม และเมื่อผู้เสียภาษีไม่ยอมรับ การประเมินของกรมสรรพากร ต้องการจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษี ก็ต้องยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าพนักงานประเมิน เช่น
- ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินวันที่ 2 ตุลาคม 2550 จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 หรือ
- ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินวันที่ 5 ตุลาคม 2550 จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550 แต่เนื่องจากวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2550 เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ได้ เป็นต้น
ตามประมวลรัษฎากร ผู้อุทธรณ์ภาษีจะต้องหาหลักทรัพย์ค้ำประกันตามจำนวนภาษี ซึ่งหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาวางประกันการอุทธรณ์ได้มีดังนี้
- เงินสด
- บัญชีเงินฝากประจำ
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
- พันธบัตร
- บุคคลค้ำประกัน
หากผู้ถูกประเมินภาษีไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาวางประกันในการอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีได้
กรมสรรพากรจะดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ
1. เตือนให้ผู้ถูกประเมินภาษีเร่งหาหลักประกันมาวางค้ำประกันการอุทธรณ์
2. สืบหาทรัพย์สินของผู้ถูกประเมิน เช่น บัญชีเงินฝาก หรือที่ดิน เป็นต้น
3. การอุทธรณ์ไม่ถือว่าเป็นการทุเลาภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 31
4. หากผู้ถูกประเมินภาษีไม่ดำเนินการ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้ต้องรับผิดเสีย ภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร ได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้ ตามประมวล รัษฎากร มาตรา 12
5. ในกรณีทรัพย์สินของผู้ถูกประเมิน ถูกเจ้าหนี้รายอื่นอายัดไว้แล้ว กรมสรรพากร สามารถอายัดซ้ำได้ และสุดท้ายต้องไปเฉลี่ยทรัพย์เอา
6. ถ้าผู้ถูกประเมินไม่สามารถชำระภาษีได้ หลังจากศาลภาษีและศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จะต้องถูกฟ้องล้มละลายต่อไปตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2543 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2547 มาตรา 9
ดังนั้น เมื่อท่านยังอยู่ใต้ฟ้าเมืองไทย ก็ควรศึกษาและปฎิบัติในเรื่องของภาษีให้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องยุ่งยากใจในภายหลัง อย่าลืมว่า “ การไม่รู้เริ่องภาษี ไม่เป็นข้ออ้างในการเสียภาษี ” |