การ ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ข้อที่ต้องระวัง
1. ให้กรอกแบบ ภ.ง.ด. 50 ตามคำแนะนำท้ายแบบ
ข้อผิดพลาดที่ตรวจพบเนืองๆ มีหลายลักษณะ อาทิ กรอกรายได้ที่ต้องเสียภาษี กับรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีสลับช่องกัน จึงเป็นเหตุให้ถูกออกหมายเรียกก็มี บางรายไม่ใช้แบบติดสติ๊กเกอร์ที่สรรพากรส่งให้ แต่กลับกรอกชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีด้วยมือและผิดพลาด จึงถูกวิเคราะห์ว่ามิได้ยื่นแบบ เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ค้นไม่พบ เป็นต้น
2. งบการเงิน (งบดุล งบกำไรขาดทุน) ควรเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น
บางรายแสดงรายละเอียดของรายการ บัญชีมากเกินไป จึงเปิดช่องให้ถูกวิเคราะห์พบความผิดพลาดได้ง่าย วิธีที่ดีที่สุดคือเปิดเผยข้อมูลเพียงเท่าที่ ก.บช. กำหนดบังคับไว้ … เข้าทำนอง “ พูดน้อยผิดน้อย พูดมากก็ต้องผิดมากเป็นธรรมดา ”
3. หมายเหตุประกอบงบการเงิน ไม่ควรมีการสารภาพบาป
ตัวอย่างของบริษัทรายหนึ่งเปิด เผยว่า ได้มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเริ่มแต่ปี 2537 เป็นเวลา 5 ปี … จากการตรวจสอบ ภ.ง.ด. 54 ไม่ปรากฏว่าบริษัทได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 ในอัตรา 15% ของค่าดอกเบี้ยจ่าย แต่อย่างใด!
4. ให้พยายามหลีกเลี่ยง ‘ การขอคืนภาษี ’
ในบรรดาเหล่าผู้กล้าที่อาจหาญ เข้าไปอุ้มลูกเสือ ล้วนเสียชีวิตภายในถ้ำมานับไม่ถ้วน...ดังนั้น ถ้าบัญชีของท่านไม่ดีและถูกต้องจริงๆ แล้วไซร้ ผู้เขียนขอ เตือนว่า “ อย่าดีกว่า! ”
5. ไม่ควรยื่นแบบเพิ่มเติมบ่อยๆ
การยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมเดือนละหลายๆ ฉบับเป็นประจำ ทั้งๆ ที่เป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กๆน้อยๆ (ขอคืนภาษีบ้าง ชำระเพิ่มเติมบ้าง) อาจ ถูกสรรพากร เรียกตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และอาจถูกประเมินภาษี !
6. อัตรากำไรขั้นต้นต่ำไปมักจะถูกเพ่งเล็ง
ในการวิเคราะห์งบการเงินเพื่อ คัดเลือกรายมาทำการออกหมายเรียกจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาเสมอคือ ‘ อัตรากำไรขั้นต้น ’ โดยจะเทียบเคียงกับอัตรากำไร ปีก่อนๆ ของบริษัทเองและ/หรือเทียบเคียงกับธุรกิจประเภทเดียวกัน
7. ‘ เงินสด ’ คงเหลือมากเกินไป บ่งว่าทำบัญชี 2 ชุด
ตามระบบการควบคุมภายใน ( internal control) ที่ดี กิจการควรรับจ่ายเงินผ่านระบบธนาคาร โดยมี ‘ เงินสดย่อย ’ (petty cash) ไว้ใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ดังนั้น งบการเงินของบริษัทใดแสดงเงินสดคงเหลือในมือมากๆ จึงเป็นเครื่องชี้ว่าไม่สุจริต เว้นแต่บางกิจการที่ค้าขายด้วยเงินสด เช่น กิจการร้านอาหาร และร้านค้าปลีก เช่น 7-ELEVEN ฯลฯ ก็พอรับฟังได้
8. บัญชี ‘ เจ้าหนี้เงินยืมกรรมการ ’ บ่งว่าอาจหลบรายได้
แหล่งที่มาของเงิน ( source of fund) ของบริษัทมี 3 แหล่งใหญ่ๆ คือได้มาจากการกู้ยืม การลงทุน/เพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น และกำไร (รายได้ท่วมรายจ่าย) หลายบริษัทรับเงินค่าขายสินค้า แต่ลงบัญชีเป็นเงินกู้ยืมจากกรรมการ บางรายแจ้งว่ากู้มา โดยมีเศษ ทศนิยมก็มี เช่น 310,401.33 บาท เป็นต้น ซึ่งเมื่อ ไต่สวนแล้ว ล้วนเป็นการแจ้งเท็จ จึงต้องถูกประเมินภาษีเพิ่มเติม 30% ของยอดเงินดังกล่าว พร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่าและเงินเพิ่มอีก 1.5%
9. การแจ้งเลิก แจ้งย้าย ก็มักจะถูกตรวจสอบ
เป็นธรรมเนียมของสรรพากรมาแต่ โบราณกาล กรณีมีผู้มาแจ้งขอเลิกกิจการหรือขอย้ายข้ามเขต ก็มักจะต้องถูกสรรพากรท้องที่เดิม ทำการตรวจสอบภาษี นัยว่าเป็นการเคลียบัญชีกันก่อนจะจาก แต่บางคนบอกว่าเป็นการเสียเงินเพื่อเซ่นเจ้าที่เจ้าทางเพื่อความเป็นศิริ มงคล!
10. ประเด็นที่มีกฎหมายลูกต้องถูกตรวจสอบเสมอ
กรณีดังกล่าวได้แก่ ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ( พ.ร.ฎ. # 145) ค่ารับรอง (กฎกระทรวง # 143) หนี้สูญ (กฎกระทรวง #186) เป็นต้น เพราะหลักเกณฑ์ตาม กฎหมายลูก จะแตกต่างจากหลักการบัญชี จึงมักปฏิบัติผิดพลาดกันอยู่เสมอๆ … เรียกว่าจิ้มไปตรงไหน ก็มักจะได้ภาษีเพิ่มเป็นนิจ
ดังนั้น การเสียเวลาสอบทานข้อมูลเสียแต่ต้น ก่อนจะยื่นแบบ จะช่วยให้ท่านสบายใจได้ว่าอย่างน้อยก็ไม่มีข้อผิดพลาดใหญ่ๆ ให้ช้ำใจในภายหลัง …
|